Thursday, March 30, 2017

สอศ.ติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และทิวิศึกษาปีการศึกษา ๒๕๖๐ ภาคใต้

   สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดโครงการติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และโครงการทวิศึกษา ปีการศึกษา 2560 เพื่อทบทวน และหาแนวทางร่วมในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพ โดยดำเนินการจัดประชุม 5 ภูมิภาค 

 วันนี้ (29 มี.ค.60 ) ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กอศ.เป็นประธานการประชุม ติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และมอบนโยบายเพิ่มสัดส่วนผู้เรียน อาชีวศึกษาภาคใต้ ณ.รร.บุรี ศรีภู จ.สงขลา มี 4 ประเด็นหลักประกอบด้วย 1. การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา 2.ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน 3.แนวทางการเพิ่มผู้เรียน และ 4.การทบทวนนโยบายสำคัญต่างๆ โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า " สอศ. ต้องช่วยกันทำงาน" โครงการทวิศึกษา ต้องเดินต่อควบคู่ คุณภาพและอาชีวะเอกชนต้องเดินไปพร้อม กับอาชีวะรัฐในทุกๆเรื่อง ทั้งการจัดทวิศึกษา การเทียบโอน การอบรมพัฒนาครู วิทยะฐานะครู ค่าหัว เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ฝากถึง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทุกแห่งให้โปรแอคทีฟ โครงการ อศกช.(อาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง)

  ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการ กอศ.ให้แนวทางและ แนะแนวปฎิบัติการรับสมัครนักเรียน นักศึกษา เพื่อเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาปีการศึกษา2560 เชื่อมั่น "คิดร่วมกัน วางแผนร่วมกัน" อาชีวะรัฐอาชีวะเอกชนไปได้ คิดให้สอดคล้องความต้องการกำลังคนของประเทศ ควบคู่คุณภาพมาตรฐาน สะท้อนภาพรวมผู้เรียนโดยใช้กศจ.เป็นเวทีรวมถึงแนวคิดใหม่เพิ่มยอดผู้เรียนด้วยการจัดอาชีวศึกษากับประเทศเพื่อนบ้าน และรูปแบบที่ชัดเจนในการจัดแผนรับนร.นศ.ของสถานศึกษาอาชีวะรัฐและอาชีวะเอกชน

                                                                                          กลุ่มประชาสัมพันธ์ 29 มีนาคม 2560

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ: สอศ.,สงขลา,เกษตร,พัฒนาครู,การศึกษา,สถานศึกษา,

Tuesday, March 28, 2017

อาชีวศึกษาภาคอีสานทั่วภูมิภาค ๒๐ จังหวัด จับมือ ขานรับนโยบาย สอศ.เปิดโครงการพัฒนารูปแบบและยกระดับคุณภาพศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน

       วันนี้ (17 มี.ค. 60) เวลา 09.00 น. ที่วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียน นักศึกษา สังกัดอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 20 จังหวัด นำโดย อดุลชัย โคตะวีระ ประธานกรรมการอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดพิธีเปิดโครงการพัฒนารูปแบบและยกระดับคุณภาพศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center Thailand 4.0) ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเป็นทางการ โดยมี ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานกล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมโครงการ จากอาชีวศึกษาภาคอีสานทั่วภูมิภาคสู่เมืองดอกบัว

           จากนั้นนายสินเธาว์ ชัยสวัสดิ์ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนารูปแบบและยกระดับคุณภาพศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center Thailand 4.0) ปล่อยขบวนคาราวาน นักเรียน นักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการเดินประชาสัมพันธ์กิจกรรม ตามด้วยขบวนรถจักรยานยนตร์ และขบวนรถยนต์ที่ให้บริการประชาชน ในโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center Thailand 4.0) ที่ประกอบไปด้วย การให้บริการซ่อมแซมบำรุงเครื่องมือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์การประกอบอาชีพ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอื่นๆ ตลอดจนให้คำแนะนำวิธีการใช้ การดูแลรักษา บริการการสร้างอาชีพใหม่หรือต่อยอดอาชีพและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อเป็นการลดรายจ่าย ช่วยเสริมรายได้และยายโอกาสให้กับชุมชน เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้ปฏิบัติจริง เกิดผลดีในด้านภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ที่ดีต่อชุมชน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ทั้งนี้อาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มอบหมายให้อาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center Thailand 4.0) เพื่อเปิดให้บริการเป็นปฐมฤกษ์ในการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าว จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 ที่วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี และ จุดที่ 2. ณ บริเวณศาลากลางหลังเก่าจังหวัดอุบลราชธานี เริ่มตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประชุมมอบนโยบายในการดำเนินงาน พร้อมกับอบรมพัฒนาศักยภาพ ครู บุคลากร ผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน(Fix it Center) ของภาครัฐบาลในสังกัดอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 116 แห่ง แห่งละ 3 คน จาก 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 348 คน และสถานศึกษาภาคเอกชน เข้าร่วมการอบรม สถานศึกษาละ 1 คน รวมผู้เข้าอบรมประมาณ 500 คน ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารอุตสาหกรรม วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนให้สามารถนำนักเรียนนักศึกษาให้บริการวิชาชีพแก่ชุมชน ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการบริการซ่อม เครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร ยานพาหนะ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ด้านการบริการสร้างอาชีพใหม่หรือต่อยอดอาชีพเดิมในท้องถิ่นชุมชน และด้านการบริการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถนำเทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการ "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส" สู่ Thailand 4.0

           ทั้งนี้บรรยากาศในงานมีประชาชนผู้ที่สนใจนำเครื่องมือ เครื่องยนต์ อุปกรณ์การประกอบอาชีพ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนและอื่นๆ เข้ารับบริการซ่อมฟรีตามจุดที่ให้บริการดังกล่าวอย่างคึกคักตลอดวัน ในส่วนประชาชนที่มีความสนใจจะเข้ารับบริการฟรีตามโครงการดังกล่าวในวันอื่นๆหลังจากนี้ไป สามารถเข้ารับบริการฟรีได้ที่สถานศึกษาสังกัดอาชีวศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือทุกจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่อาชีวศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี ที่หมายเลขโทรศัพท์ 045-240194 ในวันและเวลาราชการ

                            /////                                                                                                         กลุ่มประชาสัมพันธ์ 17 มีนาคม 2560 

                                                                                                             Cr. ข่าว : วอศ.อุบลราชธานี                                      

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ: สอศ.,เกษตร,ท้องถิ่น,สถานศึกษา,อุบลราชธานี,

สอศ.ติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และทิวิศึกษาปีการศึกษา ๒๕๖๐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

    สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดโครงการติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และโครงการทวิศึกษา ปีการศึกษา 2560 เพื่อทบทวน และหาแนวทางร่วมในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายวิชาชีพ โดยดำเนินการจัดประชุม 5 ภูมิภาค   24 มี.ค.2560  ที่โรงแรมเซ็นทาราและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ จังหวัดอุดรธานี  ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวตอนหนึ่งในการมอบนโยบายติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และโครงการทวิศึกษา ให้แก่วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อติดตามการดำเนินการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งตนรู้สึกหนักใจที่เด็กส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา เพราะเป็นค่านิยมของการมุ่งใบปริญญา แต่กลับพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีก็ไม่มีงานรองรับ ต้องหันมาเปิดกิจการของตนเอง ดังนั้น เราจำเป็นต้องเร่งสร้างแรงจูงใจในการเรียนสายอาชีพมากขึ้นว่าเรียนจบแล้วมีงานทำ ขณะเดียวกันตนจะทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในโครงการทวิศึกษากับสถานศึกษาในสังกัด อปท.เนื่องจากพบว่า สถานศึกษาที่จัดโครงการนี้ไม่ได้รับงบประมาณดำเนินการ    เลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ตนยังได้ทำหนังสือถึง เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เพื่อขอให้ครูแนะแนวของวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ได้เข้าไปแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพให้แก่นักเรียน แต่ก็ยังพบว่าโรงเรียนบางแห่งไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ดังนั้น จึงขอให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยและเขตพื้นที่ฯได้ประสานการทำงานเรื่องระบบการแนะแนวให้มากขึ้น สำหรับแผนรับนักเรียนนักศึกษาในปี การศึกษา2560 ทั้งรัฐและเอกชนมีแผนรับ 329,069 คน จากเดิมในปี 2559 จำนวน 221,862 คน จะต้องเพิ่มขึ้น 107,207 คนสำหรับการประชุมติดตามผลการรับนักเรียน นักศึกษา และโครงการทวิศึกษา ปีการศึกษา 2560 จะจัดขึ้นทั้งหมด 5 ภาค ดังนี้ ครั้งที่ 1      ภาคเหนือ                ระหว่างวันที่ 21-23 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 23-25 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก        ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดชลบุรี ครั้งที่ 4 ภาคใต้                ระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ 5 ภาคกลาง                ระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2560 ณ จังหวัดปทุมธานี                                                                                                  กลุ่มประชาสัมพันธ์ 24 มีนาคม 2560

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ: กพฐ.,สอศ.,สงขลา,ชลบุรี,ปทุมธานี,รัฐมนตรี,ท้องถิ่น,การศึกษา,อุดรธานี,โรงเรียน,สถานศึกษา,เชียงใหม่,ปริญญาตรี,

Sunday, March 12, 2017

ขุนด่านปราการชล๒วท.นครนายกคว้าแชมป์หุ่นยนต์อาชีวศึกษา (ABU) ปี ๒๕๖๐รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเตรียมลงชิงชัยคัดเลื

        ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา (ABU) รอบชิงชนะเลิศ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 9 -12 มีนาคม 2560 ณ ลานกิจกรรม ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต จังหวัดปทุมธานี ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อค้นหาสุดยอดทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ไปร่วมแข่งขันคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย และไปแข่งขันในระดับนานาชาติการแข่งขันหุ่นยนต์ (ABU) - Asia-Pacific Robot Contest ณ ประเทศญี่ปุ่น

        รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่าในปี 2560 มีทีมหุ่นยนต์ที่เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 128 ทีมทั่วประเทศ โดยผ่านการคัดเลือกสนามระดับภาค จำนวน 48 ทีม และใช้วิธีจับฉลาก แบ่งสาย จำนวน 12 สาย ๆ ละ 4 ทีม โดยแต่ละทีมจะได้มีการทดสอบสนามแข่งขัน และปรับแต่งหุ่นยนต์เพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขัน และคัดเลือกตัวแทนทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษาให้เหลือเพียง 8 ทีม ที่มีผลการแข่งขันดีที่สุดเป็นตัวแทนระดับอาชีวศึกษา เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ (ABU) ชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อหาตัวแทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันในระดับนานาชาติ ณ ประเทศญี่ปุ่น ในโจทย์ "ยุทธการจานร่อน" โดยการยิงจานไปวางบนเสาให้ได้มากที่สุด           สำหรับทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษาที่ชนะเลิศการแข่งขันในปีนี้ได้แก่ ทีมขุนด่านปราการชล 2 วิทยาลัยเทคนิคนครนายก จะได้รับถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีมขุนด่านปราการชล1 วิทยาลัยเทคนิคนครนายนก รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีมเซาะกราวโรบอท วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ และรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ ทีมพนมดิน Robot วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ ได้รับโล่รางวัล ตามลำดับ โดยมีทีมหุ่นยนต์อาชีวศึกษา อีก 4 ทีมได้แก่ 1.ทีม Sao Hai Rice Team วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี. 2. ทีมหลานหลวงพ่อคูณ วิทยาลัยเทคนิคหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ จ.นครราชสีมา 3.ทีมลูกพระเศวตสุวรรณภาพรรณ 101 วิทยาลัยการอาชีพพนมไพร จังหวัดสระแก้ว และ4. ทีม Samutsakhon วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสาคร โดยทีมทั้งหมดจะได้ไปร่วมในการแข่งหุ่นยนต์ (ABU) ชิงแชมป์ประเทศไทยต่อไป ในส่วนของรางวัลเทคนิคหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีมกาญนคร วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร และรางวัลศิลปะหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม ได้แก่ทีม นายฮ้อยทมิฬ 2017 วิทยาลัยการอาชีพสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

                                          ////            

                                                                                       กลุ่มประชาสัมพันธ์ / 12 มีนาคม 2560                                          

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ: สอศ.,สกลนคร,สระแก้ว,นครนายก,สระบุรี,ปทุมธานี,สุรินทร์,สมุทรสาคร,บุรีรัมย์,การแข่งขัน,นครราชสีมา,

Friday, March 3, 2017

อ.กรอ.อศ.ร่วมกับกระทรวงแรงงานเปิดหลักสูตรระยะสั้นผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพ   ยานยนต์และชิ้นส่วน ร่วมกับกระทรวงแรงงาน จัดโครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้น สาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อผลิตนักศึกษาอาชีวะป้อนสู่สถานประกอบการ โดยมีดร.ชาญเวช  บุญประเดิม ที่ปรึกษาการบริหารโครงการประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร่วมเป็นประธาน ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารอำนวยการ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 จังหวัดสมุทรปราการ

ดร.ชาญเวช  บุญประเดิม  ที่ปรึกษาการบริหารโครงการประจำสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน และกระทรวงแรงงาน จัดฝึกอบรมให้กับนักศึกษาระดับปวส.จากสถานศึกษาในกลุ่มนำร่อง จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคนครนายก และวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี รวมจำนวน 61 คน โดยนักศึกษากลุ่มนี้ศึกษาในระบบทวิภาคีสาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์    ซึ่งจะต้องศึกษาในสถานศึกษา 1 ปี และฝึกประสบการณ์วิชาชีพในสถานประกอบการอีก 1 ปี และเพื่อให้นักศึกษา  มีศักยภาพทักษะฝีมือสูงขึ้น และสามารถฝึกปฏิบัติงานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการส่งนักศึกษาเข้ารับการฝึกอบรมกับสถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ภายใต้โครงการ    ฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นสาขาผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ระยะเวลาฝึกอบรม จำนวน 120 ชั่วโมง โดยมีสถานประกอบการที่รับนักศึกษาอาชีวะเข้าฝึกปฏิบัติงาน จำนวน 15 แห่ง หลักสูตรการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จำนวน 5 หลักสูตร ได้แก่ 1.การใช้โปรแกรม NX cam for Miling Operation 2.ทักษะงานช่างอุตสาหกรรม 3.ไฟฟ้าเบื้องต้น 4.การเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และ 5. SQCD         นายบุญเลิศ  ธีระตระกูล  รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ จึงมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของอาเซียนหรือเป็นแนวหน้าในระดับเอเชีย โดยที่รัฐบาลได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อนาคต แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่างประสบปัญหาการขาดแคลนกำลังแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดตั้ง สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรม    ยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ภายในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 สมุทรปราการ เพื่อเป็นสถาบันหลักในการพัฒนากำลังแรงงานในสาขานี้มุ่งไทยแลนด์ 4.0 เป็นการวางรากฐานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ในอีก 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงแรงงานและยุทธศาสตร์ที่วางไว้                                                     กลุ่มประชาสัมพันธ์   /  3 มีนาคม 2560

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

คำสำคัญ: สอศ.,ชลบุรี,นครนายก,สถานศึกษา,สุพรรณบุรี,ฉะเชิงเทรา,สมุทรปราการ,ประสิทธิภาพ,