มุทิตาคารวะ' ๕๗ สพป.กทม. จำลา-อาลัย-ตัวไป-ใจอยู่
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้เกษียณอายุราชการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร "มุทิตาคารวะ ๕๗ – จำลา อาลัย ตัวไป ใจอยู่" ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีร่วมกับชมรมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษา เพื่อแสดงมุทิตาคารวะและยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในราชการมาจนครบเกษียณอายุราชการด้วยความทุ่มเทและเสียสละ โดยมี นางอรฤดี พูลศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว ในปีนี้มีผู้เกษียณอายุราชการทั้งสิ้น ๗๗ คน ประกอบด้วยผู้บริหารโรงเรียน ๕ คน รองผู้บริหารโรงเรียน ๑ คน ศึกษานิเทศก์ ๔ คน ข้าราชการพลเรือนในสำนักงานเขตฯ ๓ คน ข้าราชการครู ๕๓ คน ลูกจ้างประจำ ๑๑ คน เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗ ณ ห้องประชุมโรงเรียนวัดชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพฯ
โครงการต้นแบบไทยรัฐวิทยาโรงเรียนสอนคนดี มีคุณธรรม
ดร.สมเกียรติ บุญรอด ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นประธานในพิธีเปิดและบรรยายพิเศษเรื่องโรงเรียนสอนดีมีคุณธรรม ตามนโยบายของ คสช.ในการอบรมสัมมนาสร้างความเข้าใจการดำเนินการโครงการต้นแบบโรงเรียนไทยรัฐวิทยา โดยมูลนิธิไทยรัฐ ในวันเสาร์ที่ 6 กันยายน 2557 ณ สวนส้มทิพย์รีสอร์ท อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี เวลา 9.15 น. โดยมีผู้บริหารจากโรงเรียนต้นแบบของไทยรัฐวิทยาที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมการอบรมสัมมนา การอบรมสัมมนาในครั้งนี้จะมีเนื้อหาในเรื่องของการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมในสถานศึกษาในทุกกระบวนการไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการและการเรียนการสอน รวมไปถึงการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องที่จะนำไปสู่การเป็นโรงเรียนสอนดี รวมทั้งมีการลงนามทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง สพฐ.กับมูลนิธิโรงเรียนไทยรัฐ การอบรมฯมีขึ้นในระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย. 57และในการนี้ น.ส.ชูศรี อุดมกุศลศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาราชบุรีเขต1 ในฐานะเจ้าของสถานที่ ได้เป็นคณะในการต้อนรับ
ทีมข่าวประชาสัมพันธ์ สพป.ราชบุรี เขต 1
กิจกรรมส่งเสริม สนับสนุนให้นักเรียนรักการอ่านของครูบรรณารักษ์
เป็นที่กล่าวขานกันมานานถึงสถิติการอ่านน้อยของคนไทย ทำอย่างไรให้เด็กรักการอ่าน" ทุกคนเห็นตรงกันว่า "การอ่านเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาในด้านต่าง ๆ ถ้าไม่เริ่มที่แต่ละบุคคล ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาในระดับสังคม" ปัญหาการอ่านออก เขียนได้ ยังเป็นปัญหาท้าทายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่จะหาทางพัฒนาให้สำเร็จลุล่วง
ซึ่งวันนี้กระทรวงศึกษาธิการก็ได้ตระหนักและเริ่มต้นหาวิธีดำเนินการและคงไม่ได้อยู่เพียงต้องการให้เด็ก "อ่านออก เขียนได้" เท่านั้น ยังต้องการให้ "คิดเป็น แก้ปัญหาและวิเคราะห์เป็น" ด้วย จะสำเร็จและก้าวหน้าหรือไม่เพียงใด คงขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องโดยรวม
การอบรมพัฒนาครูบรรณารักษ์ ใน 4 ภูมิภาค ทั่วประเทศเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการเพื่อพัฒนาครูบรรณารักษ์และครูผู้ช่วยบรรณารักษ์ระดับสถานศึกษาให้มีความรู้ความสามารถ ในการจัดกิจกรรมห้องสมุดโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลต่อผู้เรียน ส่งเสริมให้กิจกรรมห้องสมุดโรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการพัฒนาผู้เรียนและการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืนตลอดชีวิต พร้อมทั้งสามารถบูรณาการห้องสมุดให้จัดการเรียนรู้ได้ทุกกลุ่มสาระ โดยให้ความรู้ในเรื่อง การบริหารจัดการห้องสมุดแนวใหม่
การสร้างความตระหนัก การสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือ การจัดการทรัพยากรสารสนเทศ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การบูรณาการการอ่านกับการใช้ห้องสมุดเพื่อการจัดการเรียนรู้ และการจัดตั้งศูนย์พัฒนาห้องสมุด โดยให้ครูบรรณารักษ์ ปลูกฝังให้เยาวชนไทยมีทักษะการอ่าน " อันมีความหมายครอบคลุมตั้งแต่การรู้จักเลือกอ่านหนังสือที่มีคุณภาพ ความสามารถในการเก็บใจความและสรุปเนื้อหา รวมถึงความสามารถในการนำความรู้จากหนังสือไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยถอดประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมพัฒนาเพื่อหามาตรการและกลยุทธ์ที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ สนุกกับการอ่านหนังสือ เกิดความต้องการอ่านหนังสือด้วยตนเอง มิใช่เพียงอ่านเพราะถูกบังคับหรืออ่านเพื่อสอบเท่านั้น ครูบรรณารักษ์จึงต้องตระหนักการส่งเสริม สนับสนุนการเรียน การสอนให้นักเรียนมีคุณภาพและมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยถือว่างานบริการห้องสมุดและการจัดกิจกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเป็นพื้นฐานสำคัญที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง และเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้กับนักเรียน โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อันส่งผลให้นักเรียนมีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการอ่าน การเขียนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งสามารถส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้นต่อไป รายงานโดย : จำเริญสุข ภู่ดอก นักประชาสัมพันธ์ สพป.นครศรีธรรมราช เขต 2
จากศูนย์ฝึกอบรมพัฒนา ณ โรงแรมแกรนด์เซาร์เทริน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
6 กันยายน 2557
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
คำสำคัญ: , สพป., สพฐ., ความรู้, ราชบุรี, ประถมศึกษา, ครูผู้ช่วย, ประสิทธิภาพ, กรุงเทพมหานคร, นครศรีธรรมราช
No comments:
Post a Comment